หน้าแรก
ข่าวกิจกรรม / บทความ 01/10/2014
BOL พลิกโอกาสเป็นขุมทรัพย์

 

บมจ. บิซิเนสออนไลน์  กับประสบการณ์กว่า 17 ปีในธุรกิจข้อมูล ชัยพร เกียรตินันทวิมล เผยวิสัยทัศน์ BOL วันนี้ก้าวสู่ Wisdom-Based Organization เปลี่ยนจากฐานข้อมูลสู่ภูมิปัญญาในการวิเคราะห์ธุรกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเติบโตในเวทีอาเซียน ชู SMELink แอพพลิเคชันอัจฉริยะ ผลักดันเอสเอ็มอีให้ประสบความสำเร็จ

                บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ หรือ BOL เป็นบริษัทที่ให้บริการทางธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ข้อมูลบริษัท ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ วิเคราะห์ธุรกิจ จนถึงการจัดเก็บหนี้สิน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2538 เพื่อให้บริการข้อมูลพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนกว่า 1,000,000 บริษัทในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นและตรวจสอบข้อมูลทางด้านเครดิตและการตลาดของบริษัทที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าที่สำคัญอาทิ สถาบันการเงินชั้นนำ และบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศ แต่วันนี้ BOL กำลังก้าวไปอีกขั้นด้วยการนำเสนอบริการที่มากกว่าข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้อย่างครบถ้วน และช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปี 2555 ที่ผ่านมา BOL รายงานผลประกอบเป็นบวก โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 381 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 85 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกำไรต่อหุ้นที่ 0.11 บาท และ BOL กำลังมีแผนงานที่น่าสนใจในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการทางธุรกิจให้กับลูกค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

นายชัยพร เกียรตินันทวิมล รองผู้จัดการทั่วไป (ฝ่ายขาย การตลาด และ พัฒนาธุรกิจ) บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา BOL  อยู่ในช่วงของการวิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ธุรกิจ เพราะเราเชื่อว่า การนำเสนอข้อมูลงบการเงินของธุรกิจเพียงอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอสำหรับลูกค้า เราพบว่า ธุรกิจของ BOL ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก จากเดิมที่บริษัทนำเสนอเพียงข้อมูลงบการเงิน แต่ปัจจุบันเราพบว่าจุดแข็งที่แท้จริงของ BOL ไม่ใช่การขายข้อมูล แต่เป็นการแปลงฐานข้อมูล เป็นองค์ความรู้ และเป็นภูมิปัญญา เพื่อการวิเคราะห์ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่า Change data to wisdom

เมื่อเราทบทวนตัวเองใหม่ เราไม่ได้จำกัดตัวเองแค่เพียงบริษัทที่ทำข้อมูลนิติบุคคล แต่เราเป็นคนที่นำข้อมูลมาทำให้มีคุณค่าต่อธุรกิจ เมื่อโจทย์ธุรกิจเราเปลี่ยนไป ทำให้ภาพของธุรกิจมีความชัดเจนมากขึ้น และนำไปสู่ที่มาของการขยายธุรกิจออกไปภายใต้แนวคิดของธุรกิจใหม่ เช่น การนำเสนอแพลตฟอร์มการจัดเก็บ การวิเคราะห์ข้อมูล และการแสดงผล ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งล่าสุดเราได้งานในการทำแพลตฟอร์มดังกล่าวให้กับโครงการ Smart Province ของจังหวัดนครนายก และอีกหลายโครงการที่กำลังตามมา”

เสนอข้อมูลครบวงจรเจาะกลุ่มธนาคาร

ที่ผ่านมา บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ มีแหล่งที่มาของรายได้ที่ค่อนข้างชัดเจน โดยร้อยละ 70 ของรายได้ ได้มาจากธุรกิจข้อมูลเป็นหลัก ซึ่งในจำนวนนั้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่สุดที่ครองส่วนแบ่งถึงร้อยละ 60 ของพอร์ท นั่นทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความสำคัญที่สุด ซึ่งหากพิจารณาตามหลักของการกระจายความเสี่ยงแล้ว ถือได้ว่ามีความเสี่ยงระดับหนึ่ง บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ จึงต้องกำหนดแนวทางธุรกิจใหม่ เพิ่มเติม โดยด้านหนึ่ง จะเน้นการสร้างสมดุลให้กับรายได้ โดยการเพิ่มพอร์ทในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย SMELink ส่วนอีกด้าน บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ ก็เน้นการสร้างความมั่นคงให้กับบริการในกลุ่มธนาคาพาณิชย์ โดยการนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่มีประโยชน์กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์มากขึ้น

“ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ ทุกแห่งเป็นลูกค้าเรา กลยุทธ์ที่เราคิดต่อไปคือ ทำอย่างไรให้ ธนาคารพาณิชย์ใช้งานข้อมูลของ บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ ให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนข้อมูลดิบนั้น คงทำอะไรไม่ได้มาก ฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือ การสร้างมิติของข้อมูลให้มีความลึกและตอบสนองความต้องการได้ดีขึ้น และพยายามขยายขอบเขตของการใช้ข้อมูลและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ธนาคารต้องการ โดยบริการหลักที่นำเสนอให้กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้น จะใช้ชื่อว่า Enlite”

EnLite เป็นแพลตฟอร์มใหม่ในการนำเสนอข้อมูลของ บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ที่นำมาใช้ทดแทนระบบ DSS เพื่อยกระดับของการบริการให้สามารถตอบสนองความต้องการของธนาคารพาณิชย์ได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มใหม่นี้ จะมีอินเทอร์เฟซที่มีการจัดเรียงข้อมูลใหม่ ให้ใช้งานง่าย ดูข้อมูลได้ง่าย โดยออกแบบบริการแต่ละส่วนเป็นโมดูล ที่ธนาคารพาณิชย์สามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการใช้งานจริง เช่น ถ้าใช้งานไม่มากอาจจะเลือกเพียงแต่ 1 หรือ 2  โมดูล ตามความต้องการได้

ชัยพร กล่าวว่า นอกเหนือจากการใช้แฟลตฟอร์ม Enlite แล้วเรายังเพิ่มบริการข้อมูล ให้ตรงกับความต้องการของธนาคารมากขึ้น เช่น โมดูล ที่เรียกว่า Activity Tracking ที่ผสมผสานระบบ Work Flow เข้ากับข้อมูล เช่น ถ้าธนาคารต้องการให้สาขาเชียงใหม่ติดต่อลูกค้า 1,000 ราย ธนาคารก็สามารถสั่งงานผ่าน Work Flow ได้ทันที ระบบจะทำหน้าที่แจกจ่ายงาน ติดตามงาน อัพเดทสถานะ และแสดงผลออกมาเป็น Map ที่มีการแยกสีตามสถานะเช่น เขียว เหลือง แดง ธนาคารสามารถเปรียบเทียบได้ว่า งานที่สั่งให้สาขาเชียงใหม่ทำ ได้ผลลัพธ์อย่างไรคุ้มค่ากับที่ลงทุนไปหรือไม่

“นอกจากนี้ เรายังมีระบบ Scoring ของธุรกิจที่ได้มาตรฐาน ธนาคารสามารถใช้ทำความเข้าใจกับลูกค้ารายใหม่ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือนำไปเปรียบเทียบกับ Scoring ของลูกค้าเดิมของธนาคารว่ามีมุมมองที่ตรงกันหรือไม่ เพื่อช่วยลดงานในการพิจารณาเครดิตของธนาคาร นอกจากนี้ธนาคารยังสามารถใช้ค้นหาลูกค้าใหม่ได้ว่า ในแต่ละอุตสาหกรรมมีลูกค้ารายไหนบ้างที่มี Scoring ที่น่าสนใจ นอกจากนี้ บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ยังมีพันธมิตรจากต่างประเทศทั้งจากยุโรปและอเมริกา ในด้านการบริหารความเสี่ยงเข้ามาเป็นที่ปรึกษา เพื่อนำหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ต่างๆ มาพัฒนาพัฒนาเป็นโมดูล เช่น Basel2  และ Basel3 รวมถึง Credit Risk, Market Rick, การบริหารสภาพคล่องของธนาคาร เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มธนาคารได้อย่างครบถ้วน”

SME Link ช่วยผู้ประกอบการไทย

                รองผู้จัดการทั่วไป กล่าวว่า นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าธนาคารที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทแล้ว  ยังมีกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ และกลุ่มเอสเอ็มอี ที่เป็นลูกค้าของบริษัทด้วยแต่เมื่อเทียบแล้วสัดส่วนของลูกค้ารายใหญ่ และเอสเอ็มอียังน้อยกว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บริษัท ต้องให้ความสำคัญกับการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มนี้ เพื่อให้บริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายอีกด้วย

“การดึงดูดเอสเอ็มอีที่มีอยู่หลายแสนรายในตลาดมาใช้บริการของเราไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงเริ่มวิเคราะห์ปัญหาที่เอสเอ็มอีเผชิญอยู่ และพบว่า เอสเอ็มอี ทำธุรกิจบนความเสี่ยงของความอยู่รอด เราจึงคิดผลิตภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของเอสเอ็มอี จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหมี่เรียกว่า SMELink โดยจะเป็นแหล่งรวมข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ  นำมาวิเคราะห์ และจัดเป็น Scoring กับ Paydex ในรูปแบบข้อมูลที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย เพื่อให้เอสเอ็มอีใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจได้”

ชัยพร กล่าวว่าการเริ่มต้นธุรกิจของเอสเอ็มอีนั้นไม่ยาก แต่การรักษาธุรกิจให้อยู่รอดในระยะยาวกลับเป็นเรื่องยากกว่า จากข้อมูลของ บมจ. บิซิเนส ออนไลน์พบว่า ปัจจุบันอัตราการอยู่รอดของเอสเอ็มอีในระยะยาวลดลงมาก จากเดิมที่อัตราการอยู่รอดของเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจเกิน 5 ปีสูงถึง 90% แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 60-70% เท่านั้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีความผันผวนทั่วโลกทั้งที่ อเมริกา ยุโรป และปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมได้ยาก เช่น ภัยธรรมชาติ การเมือง นโยบายภาครัฐ ขณะที่เอสเอ็มอีก็ยังเป็นธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ จึงมีปัญหาด้านเครดิต ต้องจ่ายเงินเร็ว แต่เก็บเงินได้ช้า และบริษัทยังขาดระบบการติดตามหนี้ที่ดี ขาดความเข้าใจว่าการติดตามหนี้ว่าส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่เอสเอ็มอีต้องเผชิญ ฉะนั้นการจัดการความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

“วงเงินเครดิตของภาคธุรกิจในปัจจุบัน มีมูลค่าสูงกว่า เงินกู้ยืมทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ถึง 5 เท่า แต่กลับขาดระบบการติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ขนาดธนาคารพาณิชย์ มีระบบการวิเคราะห์ที่ดีที่สุด ยังเกิดหนี้เสียได้ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขาดระบบวิเคราะห์ที่ดี จึงมีความเสี่ยงสูงกว่าหลายเท่า เราดูโมเดลในต่างประเทศ เขามีระบบวิเคราะห์เครดิต มีฝ่ายดูแลเครดิตที่ใหญ่ไม่แพ้ฝ่ายบัญชี แต่เอสเอ็มอีในประเทศไทยไม่รู้จัก ทั้งที่ฝ่ายเครดิตเป็นส่วนที่ติดตามหนี้กลับมาเป็นรายได้ให้กับ ซึ่งเราเห็นว่า โจทย์นี้สำคัญกับเอสเอ็มอี นั่นคือ ขายของได้แต่เก็บเงินไมได้ ถ้ารู้ว่าจะเก็บเงินไมได้ ไม่ขายเสียยังดีกว่า ไม่เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา และเก็บเงินไมได้ก็ทำให้มีปัญหาในการขาดสภาพคล่องอีก สุดท้ายส่งผลถึงภาพรวมธุรกิจ”

ความห่วงใยในธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้ บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ SMELink เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจ และข้อมูลการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีจากทั่วประเทศ  เพื่อให้สมาชิก SMELink นำข้อมูลไปใช้ตัดสินใจทางธุรกิจได้ โดยข้อมูลที่มีความจำเป็นในการวิเคราะห์เครดิตมีอยู่ 2 ส่วนได้แก่ข้อมูล Ability to Pay ความสามารถในการชำระเงิน กับ  Willingness to pay  ความตั้งใจในการชำระเงิน ทั้งสองข้อมูลนี้จะถูกนำมาคำนวณ เพื่อพิจารณาว่า บริษัทที่จะทำธุรกิจด้วยมีเครดิตเป็นอย่างไร

“Ability to Pay มองเป็นความเสี่ยงของบริษัท ว่าบริษัทยังโอเคอยู่หรือไม่ มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางการเงินขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าหรือไม่ ตรงนี้เราทำออกมาเป็น Score เรียกว่า FSS (Financial Stress Score) โดยมีลำดับคะแนนอยู่ 6 ระดับและใช้เลข 1 ถึง 6 บอกความน่าเชื่อถือ ปัจจุบันเรามีข้อมูลของบริษัทเหล่านี้อยู่ในระบบ 300,000 บริษัทส่วน Willingness to Pay จะมีความซับซ้อนมากกว่า เพราะเกี่ยวข้องกับข้อมูลเครดิตของลูกค้า โดยข้อมูลนี้สมาชิกจะส่งข้อมูลเข้ามาว่าข้อมูลเครดิตในแต่ละเดือนเป็นอย่างไร ลูกค้า A B C D มีพฤติกรรมการชำระหนี้อย่างไร เมื่อนำข้อมูลของสมาชิกทั้งหมดมาวิเคราะห์ก็จะเห็นภาพรวมการบริหารเครดิตของแต่ละบริษัทว่า บริษัท A B C D มีพฤติกรรมการจัดการเครดิต และการชำระหนี้อย่างไร ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมขึ้นจากข้อมูลเครดิตของสมาชิกนี้เราจะเรียกว่า Paydex Score ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงความตั้งใจในการชำระเงินออกเป็นตัวเลข  1 ถึง 100”

ชัยพร กล่าวว่า ในการใช้ข้อมูลทั้ง FSS และ Paydex จะทำให้เราบอกได้ว่าบริษัท A มีเครดิตอย่างไรโดย FSS Scoreจะบอกว่าบริษัทดีหรือไม่อย่างไร ส่วน Paydex Score จะบอกว่าบริษัท A มีความตั้งใจในการชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน เมื่อนำมาวิเคราะห์บริษัท เราจะเห็นภาพรวมการจัดการเครดิตทั้งหมด ทำให้เราสามารถพิจารณาได้ว่า ควรจะทำธุรกิจกับบริษัท Aหรือไม่ ถ้าทำควรจะให้เครดิตในวงเงินเท่าไร ให้เครดิตได้กี่วันจึงเหมาะสมโดยทั้ง FSS และ Paydex จะนำข้อมูลอื่นๆที่มีผลต่อการพิจารณา เช่น เป็นคู่ค้าประจำกับบริษัทมาก่อนหรือไม่ ถ้ามีค่าของ Score ก็จะเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ เรายังสามารถนำ Score ที่ได้มาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมได้ เช่น บริษัท A อยู่ในอุตสาหกรรมไอที อุตสาหกรรมไอทีส่วนใหญ่ให้เครดิตที่ 60 วัน เราก็จะมีมาตรฐานของอุตสาหกรรไว้เปรียบเทียบว่าเราให้เครดิตกี่วัน เป็นต้น

ฉะนั้นสมาชิกของ SMELink จะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ในการบริหารจัดการเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถเลือกให้เครดิตกับคู่ค้าได้อย่างเหมาะสม โดยประโยชน์ที่เอสเอ็มอีจะได้รับมีอยู่หลายประการ ประการแรกเอสเอ็มอี สามารถดู สถานะเครดิตของบริษัทตัวเองได้ว่า มีสถานะเครดิตเป็นอย่างไร ประการที่สอง เอสเอ็มอีสามารถดูข้อมูลของบริษัทที่ไม่เคยทำธุรกิจด้วยกันมาก่อนได้ ว่าเขามีเครดิตอย่างไรแต่ประการที่สำคัญที่สุดคือ บมจ. บิซิเนส ออนไลน์จะเชื่อมโยงข้อมูลเครดิตนี้ให้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์เห็นขีดความสามารถของเอสเอ็มอีแต่ละราย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการอนุมัติวงเงินสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เรามองไปถึงว่า หากเราเชื่อมข้อมูลเครดิตทั้งหมดของเอสเอ็มอีกับธนาคารพาณิชย์ ธนาคารก็จะทราบว่า เอสเอ็มอีรายไหนเป็นเอสเอ็มอีชั้นดีบ้าง ฉะนั้นธนาคารก็จะพิจารณาการให้วงเงินกู้ และวงเงินหมุนเวียนกับเอสเอ็มอีได้ง่ายขึ้น เอสเอ็มอีเองที่ปัจจุบันต้องยื่นเอกสารขอเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณา ต่อไปก็ไม่ต้องยื่นเอกสารไปขอกู้จากหลายธนาคาร เพียงกรอกข้อมูลใน SMELink ข้อมูลก็จะถึงธนาคารพาณิชย์ เพื่อพิจารณาวงเงินทันที จึงสะดวกอย่างยิ่งสำหรับเอสเอ็มอี และเป็นประโยชน์กับธนาคารพาณิชย์ที่สามารถรู้ว่าเอสเอ็มอีรายใดเป็นลูกค้าชั้นดี และใครบ้างต้องการการสนับสนุนทางการเงิน”

ชัยพร กล่าวว่า นอกจาก SMELink บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ ยังมีแผนการขยายธุรกิจในด้านอื่น เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโดยรวมของบริษัทมากขึ้น โดยในด้านแรกนั้น เรามีแผนจะขยายธุรกิจให้ครอบคลุมธุรกิจ eCommerce

ซึ่งปัจจุบันธุรกิจ eCommerce ทำธุรกิจบนความเชื่อใจกัน ถ้าไม่เชื่อใจกันธุรกิจก็ไม่เกิด ข้อมูลเครดิตของธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญ ถ้าเราบอกได้ว่าบริษัท A น่าเชื่อถือมีเครดิตที่ดีธุรกรรมก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย ระบบของ BOL จึงช่วยลดความเสี่ยงของ eCommerce ในการขายของให้ลูกค้า อีกด้านหนึ่ง บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ มีแผนจะขยายธุรกิจข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ประกอบการในกลุ่ม AEC ทั้งหมด เพราะแพลตฟอร์มการพิจารณาข้อมูลเครดิตนั้น ไม่ใช่รองรับเฉพาะประเทศไทย แต่สามารถนำไปใช้งานได้ทั่วผู้ประกอบการทั่วโลก  เมื่อเก็บข้อมูลมากขึ้นถึงระดับหนึ่งก็สามารถนำมาวิเคราะห์ และใช้ให้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์เครดิตบริษัทในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่างบการเงิน เพราะข้อมูลในงบการเงินนั้น แต่ละประเทศมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน โดยเรามีแผนที่จะเริ่มต้นจากบริษัทในกลุ่ม AEC ก่อน

ปัจจุบัน บมจ. บิซิเนส ออนไลน์ กำลังประชาสัมพันธ์กับกลุ่มเอสเอ็มอี ให้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของ SMELink ว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับธุรกิจอย่างมาก เพื่อให้เอสเอ็มอีทุกรายสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกับ SMELink ซึ่งปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสมัครสมาชิก SMELink และเลือกดูข้อมูลบางส่วนได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.smelink.net

 
<< ก่อนหน้า >> ถัดไป